ธนาคารกลางบราซิลกำลังสอบสวนกรณีการฟอกเงินผ่านคริปโตเคอร์เรนซีที่เชื่อมโยงกับการแฮ็กไซเบอร์มูลค่าประมาณ 194.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.7 พันล้านบาท) ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากการที่บริษัทซอฟต์แวร์เอกชน C&M ซอฟต์แวร์ ถูกแทรกแซง และบัญชีสำรองของธนาคารจำนวน 6 แห่งถูกเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา
ตามรายงาน แฮ็กเกอร์สามารถขโมยเงินกว่า 800 ล้านเรียลบราซิล คิดเป็นมูลค่าประมาณ 194.6 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2,707 ล้านบาทจากบัญชีของธนาคารต่าง ๆ โดยเงินส่วนหนึ่งมูลค่าระหว่าง 30 ล้านถึง 40 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 417 - 556 ล้านบาท) ได้ถูกแปลงเป็น *บิตคอยน์(BTC)*, *อีเธอเรียม(ETH)* และ *เทเธอร์(USDT)* แล้วนำไปฟอกผ่านตัวกลางการซื้อขายนอกตลาด (OTC) ในละตินอเมริกา รวมถึงผ่านบางแพลตฟอร์มเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล
หลังทราบเหตุการณ์ หน่วยงานตำรวจกลางฝ่ายต่อต้านอาชญากรรมไซเบอร์ในเซาเปาโลได้เข้ามาดำเนินการสืบสวนทันที โดยมุ่งเป้าตรวจสอบเส้นทางการเคลื่อนย้ายเงินและบุคคล หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินครั้งนี้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังตั้งข้อสังเกตว่าระบบชำระเงินเรียลไทม์ของธนาคารกลางที่ชื่อ ‘PIX’ อาจเป็นหนึ่งในช่องทางที่ถูกใช้ในการฟอกเงินอย่างผิดกฎหมาย
ข้อเท็จจริงที่น่าตกใจคือการแฮ็กครั้งใหญ่นี้เริ่มต้นจาก ‘การทรยศของพนักงานภายใน’ โดยเจ้าหน้าที่ของ C&M ซอฟต์แวร์ชื่อ *ชูเอา นาซาเรโน ฮอคเก้(João Nazareno Roque)* ได้ขายข้อมูลชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านให้กับผู้โจมตี โดยเริ่มมีการติดต่อกับแฮ็กเกอร์ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา และทำการแลกเปลี่ยนสิทธิ์เข้าถึงระบบในราคาเริ่มต้น 5,000 เรียล (ราว 139,000 บาท) ก่อนเพิ่มมูลค่าเป็น 10,000 เรียล (ราว 278,000 บาท) สำหรับการฝังคำสั่งแฮ็กในระบบเพิ่มเติม
เมื่อธนาคารกลางทราบตัวผู้กระทำผิด ก็ได้ออกคำสั่งให้ C&M ซอฟต์แวร์หยุดดำเนินกิจการชั่วคราว และภายหลังได้อนุญาตให้กลับมาเปิดดำเนินงานบางส่วนภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด เหตุการณ์ดังกล่าวแม้จะไม่เกี่ยวกับระบบหลักของธนาคารกลางโดยตรง แต่ก็สะท้อนถึงจุดอ่อนของระบบเครือข่ายที่ต้องพึ่งพาบุคคลที่สามอย่างเร่งด่วน ความเห็นจากหลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการปรับปรุงระเบียบควบคุม และประเมินความเสี่ยงทางไซเบอร์เชิงรุกมากขึ้น
เจ้าหน้าที่บราซิลยังคงเร่งขยายผลการสอบสวนเพื่อเปิดเผยความเชื่อมโยงกับผู้ต้องสงสัยเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายในการติดตามและยึดคืนทรัพย์สินทั้งหมดที่ถูกขโมยกลับคืนมาให้ได้ ขณะเดียวกัน การใช้ *คริปโตเคอร์เรนซีเป็นช่องทางฟอกเงินอีกครั้ง* ได้จุดกระแสการถกเถียงในวงกว้าง ถึงความจำเป็นของมาตรการกำกับดูแลอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในบราซิลอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น
ความคิดเห็น 0