ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย(UGA) เปิดเผยผลการศึกษาซึ่งชี้ว่า ผู้ใช้โซเชียลมีเดียมีแนวโน้มที่จะลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ใช้งานหลายแพลตฟอร์มก็จะมีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่จะเข้าสู่ตลาดคริปโต
จากการศึกษาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่ใช้โซเชียลมีเดียประมาณ 50% เคยลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล ขณะที่ในกลุ่มที่ไม่ใช้โซเชียลมีเดีย มีเพียง 10% เท่านั้นที่เคยมีประสบการณ์ลงทุน โดยแพลตฟอร์มที่มีอัตราส่วนของนักลงทุนสูงสุด ได้แก่ ยูทูบ, เรดดิต, X (อดีตทวิตเตอร์) และคลับเฮาส์ ขณะที่ผู้ใช้ ‘อินสตาแกรม’ มีแนวโน้มให้ความสนใจในการลงทุนคริปโตน้อยกว่า นักวิจัยวิเคราะห์ว่า แพลตฟอร์มอย่างยูทูบและเรดดิตมักมีการแชร์เนื้อหาด้านการเงินที่ลงลึกและมีข้อมูลครบถ้วนมากกว่า ขณะที่อินสตาแกรมเน้นไปที่คอนเทนต์สายภาพและวิดีโอสั้น ซึ่งอาจไม่เอื้อต่อการให้ข้อมูลด้านการลงทุน
ดร.ลู ฟาน(Lu Fan) รองศาสตราจารย์จาก UGA อธิบายว่า “มีการพูดถึงสกุลเงินดิจิทัลกันอย่างแพร่หลายบนโซเชียลมีเดีย อีกทั้งเหล่าคนดังยังกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ผู้ใช้มีแนวโน้มจะสนใจมากขึ้น” นอกจากนี้ เขายังเสริมว่า “เมื่อเห็นเพื่อน ครอบครัว หรือบุคคลที่พวกเขาชื่นชมลงทุนในคริปโต พวกเขาอาจเกิดแรงกระตุ้นให้ลงทุนตาม”
ผลการศึกษายังระบุอีกว่า ปัจจัยด้านเพศ ความสามารถในการรับความเสี่ยง และระดับการศึกษามีผลต่อการตัดสินใจลงทุน ผู้ชายมีแนวโน้มลงทุนคริปโตมากกว่าผู้หญิง ขณะที่ผู้ที่มีความกล้าได้กล้าเสียสูงก็มักเข้าไปในตลาดนี้มากกว่า ในทางกลับกัน ผู้ที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มจะหลีกเลี่ยงการลงทุนในคริปโต ส่วนนักลงทุนส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มวัยหนุ่มสาว ขณะที่ผู้สูงอายุมีแนวโน้มลงทุนในคริปโตต่ำ
ข้อมูลเหล่านี้สอดคล้องกับผลสำรวจด้านการลงทุนทางการเงินในปี 2018 และ 2021 โดยในปี 2018 มีเพียง 15% ของประชากรที่เคยลงทุนในคริปโต ขณะที่ในปี 2021 ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 28% สะท้อนให้เห็นว่าความนิยมและการยอมรับในสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังขยายตัวขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเตือนว่าการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับคริปโตผ่านโซเชียลมีเดียอาจส่งผลกระทบด้านลบ โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนวัยหนุ่มสาวที่อาจเข้าใจผิดว่า พวกเขามีความรู้เพียงพอ จนอาจตกเป็นเหยื่อของข้อมูลเท็จหรือโครงการฉ้อโกง
ดร.ฟาน ให้คำแนะนำว่า “นักลงทุนควรพิจารณาว่าการลงทุนในคริปโตสอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินของตนเองหรือไม่ และไม่ควรตัดสินใจเพียงเพราะกระแสบนโซเชียลมีเดีย” นักวิจัยยังเสนอให้ผู้กำหนดนโยบายใช้ข้อมูลเหล่านี้เป็นพื้นฐานในการออกมาตรการกำกับดูแล พร้อมผลักดันการให้ความรู้ด้านการรู้เท่าทันสื่อแก่ประชาชน เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการลงทุนที่อาจเกิดขึ้น
ความคิดเห็น 0