แผนเปิดตัวโทเคนของ ‘ปั๊มป์ฟัน’ แพลตฟอร์มมีมคอยน์บนเครือข่ายโซลานา(SOL) ต้องหยุดชะงักอีกครั้ง หลังจากที่เว็บไซต์ของเกตไอโอ(Gate.io) ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดแลกเปลี่ยนคริปโตหลัก ได้ลบหน้าเพจพรีมาร์เก็ตของโทเคนดังกล่าวออกทันทีเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเผยแพร่ ประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดความไม่แน่นอนอย่างมาก และนักลงทุนต่างไม่สามารถประเมินกำหนดการถัดไปได้อย่างชัดเจน
เดิมทีเกตไอโอมีกำหนดจะเริ่มขายโทเคนอย่างเป็นทางการในวันที่ 12-15 โดยตั้งราคาต่อเหรียญไว้ที่ 0.004 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6 บาท รวมยอดขายทั้งหมดจำนวน 1.5 แสนล้านโทเคน หากขายหมดจะมีมูลค่ามาร์เก็ตแคปรวมตามเกณฑ์ Fully Diluted ประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 5.5 ล้านล้านบาท ขณะที่เม็ดเงินที่คาดว่าจะระดมทุนจากรอบพรีเซลล์อยู่ที่ 600 ล้านดอลลาร์ หรือราว 8,300 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจากโพสต์ประกาศหน้าเพจ ทางเว็บไซต์กลับเปลี่ยนเป็น ‘404 error’ ขณะเดียวกันเกตไอโอก็ได้ลบคู่ซื้อขายและดำเนินการคืนเงินให้นักลงทุนโดยไม่มีคำชี้แจงล่วงหน้า
ทางเกตไอโอระบุเพียงว่า “หลังการหารือกับทีมงานโครงการ เราได้ตัดสินใจนำตลาด OTC ออกทั้งหมด” พร้อมย้ำว่า “กำหนดการในอนาคตจะมีการประกาศอีกครั้งผ่านช่องทางอย่างเป็นทางการ” ขณะที่ฝั่งแพลตฟอร์มปั๊มป์ฟันเองก็ยังไม่มีคำชี้แจง หรือความเคลื่อนไหวใดๆ เพิ่มเติม สร้างความคลุมเครือว่าโทเคนดังกล่าวมีแผนเปิดตัวจริงหรือไม่
เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงในคอมมูนิตี้ว่าเป็นเพียงความผิดพลาดในการประชาสัมพันธ์ หรือเป็นการยกเลิกแผนโดยเจตนา บ้างก็เชื่อว่าการเปิดเผยรายละเอียดก่อนกำหนดอาจส่งผลให้ทีมพัฒนาเลือกถอนตัว อย่างไรก็ตาม ก็มีการระบุถึง ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ ภายในแพลตฟอร์มที่อาจเป็นสาเหตุหลัก
ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม บริษัทโซลิเดียส แล็บ(Solidus Labs) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยบนบล็อกเชนรายงานว่า กว่า 98% ของโทเคนที่สร้างบนปั๊มป์ฟันจัดอยู่ในประเภท ‘รั๊กพูล’ หรือ ‘การปั๊มราคาเพื่อหลอกลวง’ โดยตั้งแต่ต้นปี 2024 ถึงเดือนมีนาคม 2025 มีการสร้างโทเคนบนระบบมากกว่า 7 ล้านตัว แต่มีเพียงราว 97,000 โทเคนเท่านั้นที่มีสภาพคล่องเกิน 1,000 ดอลลาร์
นอกจากนี้ โมเดล ‘บอนด์ดิ้งเคิร์ฟ’ ของแพลตฟอร์มถูกตั้งข้อสังเกตว่าเอื้อให้ผู้ที่เข้าร่วมก่อนสามารถรับผลกำไรอย่างไม่สมเหตุสมผล ขณะเดียวกันผู้พัฒนาโปรเจกต์บางรายสามารถควบคุมสภาพคล่องได้เองเพื่อเร่งการขายทำกำไรแบบฉับพลัน แพลตฟอร์มอย่างไพน์ อนาไลติกส์(Pine Analytics) ก็ออกมาเตือนว่ารูปแบบนี้กำลังถูกใช้เพื่อสร้างผลประโยชน์ในทางที่ผิด เช่น ‘การสแนปภายในบล็อกเดียวกัน’
ความเสี่ยงทางกฎหมายก็เป็นอีกปัจจัยที่กระทบความน่าเชื่อถือของปั๊มป์ฟัน โดยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แพลตฟอร์มจำเป็นต้องยุติระบบสตรีมมิ่งที่มีเนื้อหารุนแรง ขณะเดียวกันยังต้องเผชิญคดีความด้านการเสนอขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้จดทะเบียนในรูปแบบแบบกลุ่ม (class action)
ปั๊มป์ฟันก่อตั้งโดยนักพัฒนานามว่า อลอน โคเฮน(Alon Cohen) เมื่อต้นปี 2024 โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ใครก็สามารถสร้างและซื้อขายมีมคอยน์ได้อย่างง่ายดาย ด้วยโครงสร้างแบบกระจายศูนย์ พร้อมวางแผนเพิ่มฟีเจอร์ที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ อย่างไรก็ตาม การระงับแผนเปิดตัวโทเคนฉับพลันเช่นนี้ ได้สร้างความกังขาว่าอนาคตของแพลตฟอร์มจะเดินหน้าไปในทิศทางใด
การล่มสลายของแผนพรีเซลล์ที่คาดว่าจะดึงดูดเงินทุนกว่าหลายพันล้านบาท ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นในตัวแพลตฟอร์มปั๊มป์ฟัน และยิ่งตอกย้ำคำถามเกี่ยวกับ ‘ความยั่งยืน’ ของตลาดมีมคอยน์ในภาพรวม ‘คำ’ ที่นักลงทุนในตลาดคริปโตควรกลับมาทบทวนอย่างจริงจัง
ความคิดเห็น 0