มูลนิธิไฟล์คอยน์(Filecoin Foundation) และบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน สเปซ ประสบความสำเร็จในการทดลองถ่ายทอดข้อมูลผ่านระบบ ‘อินเตอร์แพลนเนตารี่ไฟล์ซิสเต็ม(IPFS)’ บนดาวเทียมในวงโคจรรอบโลก ซึ่งถือเป็นก้าวใหม่ในการใช้เทคโนโลยีเว็บแบบกระจายศูนย์ในสภาพแวดล้อมอวกาศ โดยมาร์ธา เบลเชอร์(Marta Belcher) ประธานมูลนิธิไฟล์คอยน์เปิดเผยเรื่องนี้ในงาน Consensus 2025 ที่จัดขึ้น ณ เมืองโตรอนโต
การทดสอบครั้งนี้เน้นการปรับแต่ง IPFS ให้เหมาะกับการใช้งานในอวกาศ โดยเบลเชอร์กล่าวว่า ระบบได้รับการพัฒนาและทดสอบร่วมกันทั้งจากไฟล์คอยน์และล็อกฮีด มาร์ติน IPFS แตกต่างจากโปรโตคอล HTTP แบบเดิม เพราะใช้การระบุตัวตนของข้อมูลผ่าน ‘เนื้อหา’ แทนที่จะอิงตาม ‘ตำแหน่งจัดเก็บ’ ส่งผลให้มีความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่เหนือกว่า โดยเฉพาะในพื้นที่อันห่างไกลอย่างอวกาศ
“โครงสร้างของ IPFS ช่วยลดความล่าช้าในการส่งข้อมูล แถมยังสามารถทนต่อความเสียหายจากรังสี และตรวจจับการปลอมแปลงผ่านกลไกการยืนยันเชิงเข้ารหัสได้ จึงเหมาะอย่างยิ่งกับการใช้งานในอวกาศ” เบลเชอร์กล่าวย้ำ
มูลนิธิไฟล์คอยน์ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ทำหน้าที่ดูแลโปรโตคอลไฟล์คอยน์(FIL) ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้สามารถจัดเก็บข้อมูลในแบบกระจายศูนย์โดยใช้เทคโนโลยี IPFS ขณะเดียวกัน พันธมิตรสำคัญอย่างล็อกฮีด มาร์ตินนั้น ก็เป็นบริษัทชั้นนำในวงการเทคโนโลยีอวกาศระดับโลก มีศักยภาพสูงในการวางรากฐานสำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์ของระบบ IPFS ในอนาคต
นักวิเคราะห์มองว่า ความสำเร็จครั้งนี้สามารถปูทางให้ IPFS กลายเป็นเทคโนโลยีหลักในการเสริมศักยภาพการสื่อสารระหว่างดาวเทียมหรือเป็นทางเลือกใหม่สำหรับเครือข่ายภาคพื้นดิน ความสำเร็จครั้งนี้ยังตอกย้ำถึง ‘ศักยภาพที่แท้จริงของเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์’ และอาจเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายโครงสร้างพื้นฐาน Web3 สู่ ‘นอกโลก’ อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
ความคิดเห็น 0