สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐ (CIA) เริ่มให้ความสำคัญกับ *บิตคอยน์(BTC)* ในเชิง ‘ความมั่นคงระดับประเทศ’ โดยไมเคิล เอลลิส(Michael Ellis) รองผู้อำนวยการ CIA เปิดเผยระหว่างการให้สัมภาษณ์ในพอดแคสต์ของแอนโทนี พอมพลีอาโน(Anthony Pompliano) เมื่อไม่นานมานี้ว่า “*บิตคอยน์และอุตสาหกรรมคริปโตโดยรวม* ได้ก้าวเข้าสู่เวที ‘การแข่งขันระหว่างประเทศ’ แล้ว” ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทที่มากขึ้นของเทคโนโลยีบล็อกเชนในยุทธศาสตร์ของชาติ
เอลลิส ระบุว่า CIA กำลังร่วมมือกับหน่วยงานด้านกฎหมายในประเทศ เพื่อติดตามอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโต พร้อมทั้งนำคริปโตมาประยุกต์ใช้ในการเก็บข้อมูลข่าวกรองทั้งในภารกิจต่อต้านการก่อการร้ายและการปฏิบัติการในต่างประเทศ เขาย้ำว่า “สินทรัพย์ดิจิทัลไม่ใช่แค่กระแสระยะสั้น แต่เป็นเทคโนโลยีที่จะอยู่กับเราระยะยาว โดยเฉพาะในบริบทการแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สหรัฐไม่อาจยอมเสียความเป็นผู้นำไปได้”
นอกจากนี้ เอลลิสยังมองว่า ทิศทางที่ *หน่วยงานระดับโลกหลายแห่งเริ่มหันมายอมรับคริปโต* ถือเป็นพัฒนาการที่น่าสนับสนุน โดยเขาชี้ว่า “ฝ่ายบริหารของรัฐบาลในปัจจุบันกำลังปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อเข้าใจและรองรับเทคโนโลยีนี้” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนคริปโตของ *ประธานาธิบดีทรัมป์* ที่เพิ่งประกาศจัดตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อวางกรอบกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล และกำหนดยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านสินทรัพย์ดิจิทัลในเร็ว ๆ นี้
ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรป (EU) กำลังเตรียมออกกฎควบคุมล่าสุดที่มีเป้าหมาย ‘ห้ามใช้กระเป๋าเงินคริปโตแบบไม่ระบุตัวตน’ และการใช้เหรียญที่เน้นความเป็นส่วนตัวทั้งหมด โดยอิงจากข้อบังคับต่อต้านการฟอกเงินฉบับใหม่ (AMLR) ซึ่งมีกำหนดบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2027 เอกสารจากคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า จะมีการแบนการใช้ *โมเนโร(XMR)* และ *ซีแคช(ZEC)* และห้ามไม่ให้บริการทางการเงินใด ๆ สร้างหรือดำเนินการบัญชีแบบไม่ระบุตัวตน
จากคู่มือ AML ที่จัดทำโดย *โครงการริเริ่มคริปโต EU (EUCI)* กฎหมายฉบับแก้ไข มาตรา 79 ได้กำหนดให้ธนาคาร, สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล (CASP) ต้องไม่อนุญาตให้มีบัญชีคริปโตแบบไร้ตัวตนหรือการรับ-ส่งเหรียญที่เน้นความเป็นส่วนตัว ซึ่งจะกระทบต่อฟังก์ชันหลักของคริปโตที่เน้น *การรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน*
*ความคิดเห็น:* แม้มาตรการเหล่านี้อาจถูกมองว่าไปขัดกับหลักการ ‘กระจายอำนาจ’ และ ‘ความเป็นส่วนตัว’ ซึ่งถือเป็นจิตวิญญาณแห่งคริปโต แต่ในทางกลับกันก็นับเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึง ‘ความจริงจัง’ ของรัฐบาลทั่วโลกในการเร่งกำกับดูแลเพื่อป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด
ท่าทีของสหรัฐและยุโรปในครั้งนี้ จึงอาจกำหนดทิศทางของการวางนโยบายสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับโลกในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ
ความคิดเห็น 0