รัฐบาลปากีสถานเดินหน้าออกแบบกรอบกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ทั้งหมด เพื่อผลักดันให้คริปโตเคอร์เรนซีมีฐานทางกฎหมายอย่างเป็นทางการ โดยเมื่อวันที่ 22 ตามรายงานของ Express Tribune สำนักงานสอบสวนกลางของปากีสถาน (FIA) ได้เสนอร่างกฎระเบียบซึ่งอิงตามข้อเสนอแนะของคณะทำงานปฏิบัติการทางการเงิน (FATF) ที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันการฟอกเงินในระดับนานาชาติ
ซูเมรา อัซซัม ผู้อำนวยการของ FIA ระบุว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือเป็น ‘จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ’ ของมุมมองรัฐบาลต่อการเงินดิจิทัล และชี้ว่าเป็น ‘นโยบายประวัติศาสตร์’ ที่พยายามหาระดับสมดุลระหว่าง ‘ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความมั่นคงของชาติ’ โดยกฎหมายดังกล่าวจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และคาดว่าจะเริ่มใช้อย่างเป็นขั้นตอนตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป
ท่าทีนี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนนโยบายอย่างสิ้นเชิงจากที่เคยคัดค้านคริปโตฯ อย่างหนักในอดีต โดยเฉพาะในปี 2023 ที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเคยอ้างอิงข้อแนะนำของ FATF เพื่อปฏิเสธการรับรองคริปโตฯ อย่างถูกกฎหมาย และยังเคยมีข้อเสนอประชาพิจารณ์เรื่องการแบนการใช้งานคริปโตฯ ทั่วประเทศ
แต่ในช่วงต้นปี 2025 ท่าทีของรัฐบาลเริ่มเปลี่ยน โดยเฉพาะจากกระทรวงการคลัง ซึ่งได้ประกาศจัดตั้ง ‘สภาคริปโตแห่งปากีสถาน’ (Pakistan Crypto Council) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อผลักดันการออกระเบียบที่ชัดเจน และดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ โดยบิลาล บิน ซากิบ ตัวแทนสภา ให้ความเห็นว่า “ปากีสถานเป็นตลาดเติบโตสูงที่มีต้นทุนต่ำ และเต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับ Web3... เราพร้อมอย่างยิ่งที่จะขึ้นเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมคริปโตระดับโลก”
สภาดังกล่าวยังได้เปิดเผยแผนการใช้ ‘พลังงานไฟฟ้าส่วนเกิน’ เพื่อทำเหมืองบิตคอยน์(BTC) ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่จะดึงดูดการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมขยายฐานอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ โดยหวังว่าจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการขุดคริปโตระดับนานาชาติ
เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ยังมีความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมเมื่อปากีสถานแต่งตั้ง จางเผิง เจา(Changpeng Zhao) ผู้ร่วมก่อตั้งไบแนนซ์ ให้เป็นที่ปรึกษานโยบาย โดยทางกระทรวงการต่างประเทศชี้ว่าบทบาทของเขาจะเป็น ‘ส่วนสำคัญ’ ในการร่างกฎเกณฑ์เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมคริปโตของประเทศ
กรอบกำกับ FATF ฉบับใหม่นี้ชูประเด็นสำคัญ ได้แก่ ป้องกันการฟอกเงินและเงินทุนสนับสนุนการก่อการร้าย พร้อมทั้งกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการพิสูจน์ตัวตนผู้ใช้ การให้ความยินยอมอย่างชัดเจนในธุรกรรมคริปโตฯ ซึ่งนอกจากจะยกสถานะตลาดที่ไม่เป็นทางการให้เข้าสู่ระบบแล้ว ยังสะท้อนถึง ‘แนวนโยบายใหม่ของรัฐ’ ที่เริ่มมีความสอดคล้องกับท่าทีสนับสนุนคริปโตของรัฐบาลสหรัฐอีกด้วย — *ความคิดเห็น*
ความคิดเห็น 0