แอนท์กรุ๊ป บริษัทฟินเทคยักษ์ใหญ่จากจีน ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยแจ็ค หม่า กำลังหาทางร่วมมือกับเซอร์เคิล (Circle) ผู้ให้บริการออกเหรียญสเตเบิลคอยน์แบบอิงดอลลาร์สหรัฐ หรือ ยูเอสดีซี(USDC) เพื่อผนวกรวม USDC เข้ากับเครือข่ายบล็อกเชนของทางบริษัท โดยมุ่งหวังจะขยายระบบการชำระเงินระดับโลก ความร่วมมือนี้คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อ USDC ปรับให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านกฎระเบียบของสหรัฐ แม้ในขณะนี้จะยังไม่มีการเปิดเผยกำหนดการที่ชัดเจน
การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับข่าวว่า เซอร์เคิล ยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารทรัสต์ในสหรัฐ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มความโปร่งใสด้านการถือครองสินทรัพย์สำรองของเหรียญ USDC และสร้างความน่าเชื่อถือในฐานะสถาบันการเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างแอนท์กรุ๊ปและเซอร์เคิลยังได้รับแรงหนุนจากกฎหมายควบคุมสเตเบิลคอยน์ ‘GENIUS’ ที่วุฒิสภาสหรัฐผ่านไปเมื่อกลางเดือนมิถุนายน ซึ่งระบุข้อบังคับที่ชัดเจนสำหรับผู้ออกเหรียญ และมีเป้าหมายลดความไม่แน่นอนในตลาดสเตเบิลคอยน์
แอนท์กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของอาลีบาบา มีแพลตฟอร์มชำระเงินยักษ์ใหญ่อย่างอาลีเพย์ (Alipay) ที่รองรับธุรกรรมเกินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทได้เร่งพัฒนา ‘แอนท์เชน’ (AntChain) เครือข่ายบล็อกเชนของตนเอง เพื่อให้บริการข้ามพรมแดน ครอบคลุมการแปลงสินทรัพย์ให้อยู่ในรูปแบบโทเคน และการบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล โดยล่าสุด แอนท์กรุ๊ปยังผนึกกำลังกับ JDดอทคอม เรียกร้องให้ธนาคารกลางจีนอนุมัติการใช้งานเหรียญสเตเบิลคอยน์ที่มีเงินหยวนเป็นหลักประกัน ซึ่งสะท้อนความพยายามที่จะท้าทายระบบการชำระเงินดิจิทัลที่ยังคงยึดโยงกับดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากความร่วมมือกับเซอร์เคิลแล้ว แอนท์กรุ๊ปยังเดินหน้าแผนการขยายธุรกิจทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมขอใบอนุญาตออกเหรียญสเตเบิลคอยน์ในสิงคโปร์และฮ่องกง รวมถึงโปรเจกต์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ร่วมกับบล็อกเชนสาธารณะอย่างซุย(Sui) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการนำสินทรัพย์จริงเข้าสู่ระบบบล็อกเชนเพื่อใช้งานในตลาดเกิดใหม่
ในฝั่งของเซอร์เคิลเอง บริษัทก็กำลังรุกขยายภาคธุรกิจอย่างมาก ภายใต้กระแสการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ภายหลังจากที่กฎหมาย GENIUS ผ่านการอนุมัติ ส่งผลให้ข้อเสนอฉบับคู่แข่งอย่างร่างกฎหมาย STABLE ถูกลดความสำคัญลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ เซอร์เคิลมีแผนจะเสริมสร้างบทบาทของ USDC ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินทั่วสหรัฐ และหากดีลกับแอนท์กรุ๊ปเดินหน้าได้สำเร็จ ก็มีแนวโน้มว่า *สถานะของ USDC ในระดับนานาชาติ* จะยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น *ความคิดเห็น: ความร่วมมือนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้ USDC กลายเป็นตัวเลือกหลักในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก*
ความคิดเห็น 0