อีเธอเรียม(ETH) กำลังสร้างความสนใจในช่วงนี้หลังทะลุระดับราคา 3,300 ดอลลาร์ (ประมาณ 4.58 แสนบาท) โดยมีสัญญาณบวกเกิดขึ้นจากเกือบทุกด้าน ตั้งแต่จำนวนผู้ถือครองที่ทำสถิติสูงสุด, การเข้ามาลงทุนของสถาบัน และตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคที่เอื้ออำนวย ส่งผลให้นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยมองว่า อีเธอเรียม อาจกำลังเข้าสู่ ‘รอบขาขึ้น’ ครั้งใหม่ในตลาดคริปโต
เมื่อวันที่ 16 อีเธอเรียมซื้อขายบนกระดานบิตสแตมป์(Bistamp) พุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดระหว่างวันอยู่ที่ 3,371 ดอลลาร์ (ประมาณ 4.68 แสนบาท) เพิ่มขึ้นมากกว่า 7% ซึ่งถือเป็นอัตราการปรับตัวที่แรงที่สุดในกลุ่มสกุลเงินดิจิทัลหลัก รวมถึงแซงหน้าบิตคอยน์(BTC) ด้วยซ้ำ โดยอัตราแลกเปลี่ยน ETH/BTC กระโดดขึ้นกว่า 15% ภายใน 2 วัน แตะ 0.028 BTC ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาปรับตัวแรงคือ ‘จำนวนผู้ถืออีเธอเรียมแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์’ ข้อมูลจากแพลตฟอร์มวิเคราะห์ออนเชนอย่าง Santiment ระบุว่า ขณะนี้มีจำนวนกระเป๋าเงินที่ไม่ว่างเปล่าในเครือข่ายอีเธอเรียมมากกว่า 152 ล้านกระเป๋า ซึ่งมากที่สุดในบรรดาคริปโตทั้งหมด สะท้อน ‘ความต้องการในตลาดที่มีฐานแข็งแกร่ง’
ทางด้านฝั่งสถาบันการเงินและบริษัทจดทะเบียนก็มีการขยับตัวเช่นกัน บริษัท SharpLink ในสหรัฐ ได้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทมหาชนที่ถือครองอีเธอเรียมมากที่สุด ด้วยการสะสมมากกว่า 280,000 ETH ภายในระยะเวลาอันสั้น ขณะที่ยักษ์ใหญ่ด้านการจัดการสินทรัพย์อย่างแบล็คร็อก(BlackRock) ก็ได้แรงตอบรับดีเช่นกัน หลังจากกองทุน ETF อีเธอเรียมแบบสปอตชื่อว่า ‘ETHA’ มีเงินไหลเข้าใหม่ถึง 171 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,377 ล้านบาท) ภายในวันแรกที่เปิดตัว แสดงให้เห็นถึง ‘ความสนใจจากนักลงทุนสถาบัน’ อย่างต่อเนื่อง
อีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ช่วยหนุนตลาดคือ ‘ตัวชี้วัดเศรษฐกิจมหภาคที่ออกมาดีเกินคาด’ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมิถุนายน สหรัฐที่เผยโดยกระทรวงแรงงาน ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ สื่บเนื่องให้นักวิเคราะห์มองว่าโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะลดดอกเบี้ยในระยะสั้นมีมากขึ้น ส่งผลต่อ ‘บรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง’ ให้กลับมาคึกคัก และอีเธอเรียมอยู่ในแนวหน้าของกระแสนี้
ในตลาดอนุพันธ์ก็มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ข้อมูลจาก CoinGlass ระบุว่า ในช่วงเวลา 4 ชั่วโมง มีการล้างโพซิชันชอร์ตของ ETH มูลค่ารวมถึง 56 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 778 ล้านบาท) โดยรวมถึงโพซิชันขนาดใหญ่ของ ‘วาฬ’ รายหนึ่งที่ขาดทุนไปถึง 8.4 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 117 ล้านบาท) เหตุการณ์นี้กลายเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ ‘สะท้อนแรงเทของฝั่งชอร์ตและความแข็งแกร่งของแนวโน้มขาขึ้น’
ขณะที่คริปโตหลักทั้งหมดต่างปรับตัวขึ้นในช่วงเดียวกัน แต่ ‘อีเธอเรียมโดดเด่นกว่าตัวอื่นๆ อย่างชัดเจน’ จำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้น, เงินทุนจากสถาบันที่หลั่งไหล รวมถึงสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนจากเศรษฐกิจมหภาค กลายเป็นปัจจัยรวมที่ช่วยผลักดันราคาอย่างมีนัยสำคัญ ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลายรายจึงชี้ว่า ‘อีเธอเรียมอาจยังมีพื้นที่ให้วิ่งต่อ’ ในช่วงอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า.
ความคิดเห็น 0