การนำบิตคอยน์(BTC) มาใช้งานในภาคธุรกิจภายในสหภาพยุโรป(EU)ยังคงจำกัดอยู่ แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเร่งผลักดันการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อจัดตั้งกองทุนสำรองบิตคอยน์ของรัฐบาลกลาง ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคริปโตให้กลายเป็น ‘ทรัพย์สินยุทธศาสตร์ของชาติ’
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ทรัมป์ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารที่ให้นำคริปโตที่ถูกยึดจากคดีอาชญากรรมมาใช้เป็นทรัพย์สินในคลังกองทุนสำรองของรัฐบาลกลาง ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่านโยบายใหม่นี้เป็นการส่ง ‘สัญญาณ’ ที่ชัดเจนว่าบิตคอยน์กำลังได้รับการยอมรับในฐานะสินทรัพย์ของรัฐ ขณะที่บริษัทในยุโรปยังไม่แสดงท่าทีตอบรับใด ๆ อย่างเป็นรูปธรรม
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากแพลตฟอร์มโทเคนสินทรัพย์ในยุโรปอย่างบรีเคน ระบุว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ยุโรปยังล้าหลังคือโครงสร้างกำกับดูแลที่ซับซ้อนและกระจายอำนาจ เอลิเซนดา ฟาบริกา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของบรีเคน กล่าวว่า "การนำบิตคอยน์มาใช้ในภาคธุรกิจยุโรปยังมีข้อจำกัด เนื่องจากขาดความชัดเจนด้านข้อกฎหมาย สัญญาณเชิงนโยบาย และโครงสร้างตลาดที่ยังไม่โตเต็มที่" เธอยังกล่าวเพิ่มเติมว่า "นโยบายที่กำหนดให้บิตคอยน์เป็นทรัพย์สินสำรองยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ"
แม้บิตคอยน์จะทำผลตอบแทนได้ดีกว่าสินทรัพย์หลักอื่น ๆ นับตั้งแต่ทรัมป์กลับเข้าสู่เวทีการเมืองอย่างแข็งแกร่ง แต่บริษัทในยุโรปที่เปิดเผยว่าใช้หรือถือครองบิตคอยน์อย่างเป็นทางการยังคงมีอยู่ไม่มากนัก ตัวอย่างที่โดดเด่น ได้แก่ BNP ปารีบาสจากฝรั่งเศส, 21Shares จากสวิตเซอร์แลนด์, VanEck Europe และ Jacobi Asset Management จากมอลตา รวมถึง Bitpanda สตาร์ทอัพฟินเทคจากออสเตรีย
Bitpanda ยังเปิดเผยผลสำรวจล่าสุดซึ่งชี้ว่า สถาบันการเงินในยุโรปประเมินความต้องการลงทุนในคริปโตของลูกค้าต่ำกว่าความเป็นจริงถึงกว่า 30% ความคลาดเคลื่อนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความล่าช้าในการกำหนดนโยบายและความลังเลในการเข้าสู่ตลาดของยุโรป
ทีมวิเคราะห์จาก Bitfinex ให้ความเห็นว่า “โครงสร้างการลงทุนในยุโรปยังมีข้อจำกัด เนื่องจากกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดและแนวทางลงทุนที่อนุรักษนิยม โดยเฉพาะกองทุนบำเหน็จบำนาญและบริษัทจัดการสินทรัพย์ขนาดใหญ่ยังไม่มีแนวทางลงทุนที่ชัดเจนรองรับคริปโต”
ด้านอีเลีย คัลเชฟ นักวิเคราะห์จากแพลตฟอร์มการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล Nexo ก็สะท้อนมุมมองในทิศทางเดียวกัน โดยชี้ว่า "ยุโรปยังคงมีแนวโน้มอนุรักษนิยมต่อเครื่องมือการเงินแบบใหม่ ขณะที่สหรัฐฯ มีตลาดทุนที่ลึกล้ำและมีสภาพคล่องสูง พร้อมขั้นตอนที่ชัดเจนในการอนุมัติ ETF ทำให้สามารถดึงดูดนักลงทุนรายย่อยได้มากขึ้น"
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม บริษัท BlackRock ผู้จัดการสินทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของโลก ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์บิตคอยน์แบบ ETP (Exchange-Traded Product) ในยุโรป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในวงการมองว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่จะกระตุ้นให้การยอมรับคริปโตในภาคสถาบันของยุโรปเริ่มเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม ‘ความคิดเห็น’ ส่วนใหญ่ยังคงเห็นตรงกันว่า หากขาดความชัดเจนด้านกฎหมายและนโยบาย การไล่ตามสหรัฐฯ ยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับยุโรปในระยะใกล้
ความคิดเห็น 0