รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์อาจกำลังมุ่งหน้าปรับลดอำนาจของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน(CFPB) อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคาดว่าจะทำให้บทบาทด้านการกำกับดูแลคริปโตเคอร์เรนซีในสหรัฐฯ เคลื่อนย้ายไปอยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(SEC) รวมถึงหน่วยงานระดับรัฐที่มีอำนาจควบคุมแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
อีธาน ออสทรอฟ(Ethan Ostroff) หุ้นส่วนของบริษัทกฎหมายทราวต์แมน เพพเพอร์ ล็อค(Troutman Pepper Locke) เปิดเผยกับ Cointelegraph ว่า “ในยุครัฐบาลชุดปัจจุบัน CFPB มีแนวโน้มที่จะถอยห่างจากบทบาทด้านการกำกับคริปโตเคอร์เรนซี เนื่องจากหน่วยงานกำกับอื่นๆ เริ่มมีบทบาทที่เข้มข้นขึ้นมาก” เขาระบุว่า หน่วยงานกำกับระดับรัฐ อาทิ กรมบริการทางการเงินแห่งนิวยอร์ก(NYDFS) และกรมนวัตกรรมการเงินของรัฐแคลิฟอร์เนีย(DFPI) อาจเข้ามาทำหน้าที่บางส่วนแทน CFPB ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองทางการเงิน(CFPA)
แม้จะมีการปรับลดขนาด แต่ออสทรอฟชี้ว่า CFPB จะยังไม่ถูกยุบในเร็ววัน โดยอธิบายว่า “ตามกฎหมายปัจจุบัน CFPB ยังคงมีข้อบังคับและภารกิจที่ชัดเจน ซึ่งหากต้องการยุบหน่วยงานจะต้องผ่านกระบวนการออกกฎหมายจากรัฐสภาอย่างเป็นทางการ”
การปรับโครงสร้างครั้งนี้มีหน่วยงานด้านประสิทธิภาพรัฐบาล(DOGE) เป็นผู้ผลักดันหลัก ภายใต้เหตุผลเรื่อง ‘การเพิ่มประสิทธิภาพนโยบาย’ หลังการแต่งตั้ง รัสเซล โบท(Russell Vought) เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการ CFPB เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าตัวได้ดำเนินการตัดลดงบประมาณของหน่วยงานลงอย่างมาก และเริ่มการลดขนาดการดำเนินงานภายในทันที
เอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกจากรัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง CFPB ออกแถลงการณ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวดังกล่าวอย่างหนัก เธอกล่าวหาว่า เอลอน มัสก์มีบทบาทผลักดันเบื้องหลังการยุบหน่วยงาน และชี้ว่ารัฐบาลทรัมป์กำลังพยายามลดความเข้มข้นของกฎเกณฑ์คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อขยายอำนาจควบคุมระบบการเงิน
เธอย้ำว่า การยุบ CFPB ไม่สามารถกระทำได้โดยอำนาจฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีเพียงลำพัง ต้องอาศัยกระบวนการนิติบัญญัติของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเต็มรูปแบบ ความเคลื่อนไหวครั้งนี้จึงอาจไม่ใช่แค่เรื่องของการปรับโครงสร้างหน่วยงานเท่านั้น แต่ยังสื่อถึงการเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายในวงการคริปโตของสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย.
ความคิดเห็น 0