โทเคนหุ้นและส่วนแบ่งในกิจการที่ยังไม่ได้จดทะเบียน ยังอยู่ใน ‘พื้นที่สีเทา’ ทางกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนไม่สามารถได้รับสิทธิ์เทียบเท่ากับผู้ถือครองสินทรัพย์แบบเดิมได้ ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญในแวดวงคริปโตและกฎหมายสะท้อนความกังวลต่อความไม่ชัดเจนนี้ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวของเทคโนโลยีการโทเคนไรซ์(real-world asset tokenization หรือ RWA) ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วบนเครือข่ายบล็อกเชน
จอห์น มูริโย(John Murillo) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจของ B2บรอคเกอร์(B2BROKER) ให้สัมภาษณ์กับ Cointelegraph ทางอีเมลเมื่อไม่นานนี้ว่า นักลงทุนจำเป็นต้องเข้าใจโครงสร้างของ ‘โทเคนสิทธิ’ อย่างชัดเจนว่ามีองค์ประกอบสำคัญอย่าง ‘เงินปันผล’ หรือ ‘การแบ่งปันรายได้’ ด้วยหรือไม่ เพราะการพึ่งพาการเพิ่มมูลค่าทางทุนเพียงอย่างเดียวอาจ ‘ไม่เพียงพอ’ สำหรับการตัดสินใจลงทุน
มูริโยยังเน้นว่า นักลงทุนจำนวนมากอาจไม่รู้ตัวว่าไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นโดยตรง แต่ถือเพียงโทเคนที่ออกโดย ‘หน่วยงานตัวกลาง’ เท่านั้น เขาอธิบายว่า “แม้โครงสร้างนี้จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนบางส่วนหากบริษัทเติบโตหรือมีการขายกิจการ แต่สิทธิ์เหล่านั้นก็เป็นเพียง ‘สิทธิ์ทางอ้อม’ เท่านั้น”
นอกจากนี้เขายังกล่าวว่า โทเคนเหล่านี้ไม่ได้ให้ ‘สิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลการเงิน’ หรือ ‘สิทธิ์ในการออกเสียง’ ซึ่งเป็นสิทธิ์สำคัญของผู้ถือหุ้นในตลาดดั้งเดิมเลย โดยสรุปคือ นักลงทุนไม่มี ‘สิทธิ์ฟ้องร้องต่อทรัพย์สินของบริษัท’ ได้โดยตรงในกรณีฉุกเฉิน
จากประเด็นข้างต้น มีการตั้งข้อสังเกตว่า หากขาดกรอบกฎหมายที่ชัดเจน เทคโนโลยีโทเคนไรซ์อาจยังไม่สามารถถูกยอมรับเทียบเท่ากับระบบการเงินแบบเดิมได้ แม้จะมีข้อได้เปรียบในแง่ของ ‘ประสิทธิภาพทางเงินทุน’ และ ‘ความสามารถในการเข้าถึง’ ที่ดีขึ้นก็ตาม
ปัจจุบันหน่วยงานกำกับดูแลกำลังพิจารณาจัดทำแนวทางทางกฎหมายที่ชัดเจนสำหรับโครงการ RWA ซึ่งความคืบหน้าในการ ‘วางกฎเกณฑ์’ เหล่านี้จะเป็นจุดตัดสินสำคัญว่า โทเคนสินทรัพย์จริงจะกลายเป็น ‘โอกาสใหม่’ ในโลกการเงิน หรือเป็นเพียงความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่ยังควบคุมไม่ได้ ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การออกกฎหมายที่ ‘ทันต่อเทคโนโลยีและโครงสร้างใหม่’ ยังเป็นสิ่งจำเป็นและอาจต้องใช้เวลาอีกพอสมควร
ความคิดเห็น 0